เปิดภาพ “วาฬโอมูระเผือก” ตัวแรกของโลกพบในทะเลไทย

6 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความพร้อมภาพผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thon Thamrongnawasawat”  ระบุข้อความสรุปได้ว่า

ประเทศไทยพบ “วาฬโอมูระเผือก” ตัวแรกของโลกซึ่ง “วาฬโอมูระ” นั้น ถือว่าหายากในโลกอยู่แล้วเนื่องจากพบเฉพาะเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปถึงตอนใต้ญี่ปุ่นแต่การพบ “วาฬโอมูระเผือก” นี้ ดร.ธรณ์ ใช้คำว่า ดับเบิ้ลหายาก กันเลยทีเดียวเพราะมีเงินมหาศาลอยากเห็นก็ใช่ว่าจะได้เห็นกันง่าย ๆ  นับเป็นข่าวดีต้อนรับปีใหม่ของผู้ที่ชื่นชอบทะเลไทยและคนไทยกันเลยทีเดียว โดยโพสต์ดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้ 

ข้อมูลยืนยันชัดเจนพร้อมระบุพิกัดโดยเจ้าของคลิป เรามีวาฬเผือกรายงานแรกของไทยและน่าจะเป็น วาฬโอมูระเผือก รายงานแรกของโลกด้วย วาฬโอมูระ ต่างจาก บรูด้า ชัดสุด คือ สันบนหัว โอมูระมี 1 สัน บรูด้ามี 3 สัน ภาพจากคลิปพอบอกได้ว่า วาฬเผือกตัวนี้มีสันเดียว เป็นวาฬโอมูระ หมายความว่า เป็นดับเบิ้ลหายาก !

ลำพังวาฬโอมูระ ถือว่า หายากในโลกอยู่แล้ว พบเฉพาะเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปถึงตอนใต้ญี่ปุ่น ในไทยมีรายงานน้อยกว่าบรูด้าอย่างเห็นได้ชัด ปรกติจะเจอฝั่งอันดามัน ในอ่าวไทยมีบ้างแต่น้อยกว่า และอยู่ลงไปทางใต้ ไม่ค่อยเข้ามาในอ่าวไทย ในโอกาสที่เราลงเรือดูวาฬแถวสมุทรสงคราม/เพชรบุรี แล้วเจอวาฬโอมูระแทบไม่มี ส่วนใหญ่มักเป็นนักท่องเที่ยวไปสิมิลัน สุรินทร์ พีพี เกาะรอบภูเก็ต ที่รายงานเข้ามาเมืองนอกก็ยิ่งหายากครับ อันที่จริง เมืองไทยที่ว่าหายาก ยังรายงานการพบเจอเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

แล้วถ้าเป็นโอมูระเผือกล่ะ ? โอย ผมไม่รู้จะบอกยังไง มีเงินร้อยล้านพันล้านอยากเจอก็ไม่ใช่จะได้ ต้องใช้โชคล้วน ๆ ประเภทหนึ่งในสิบล้านหรือกว่านั้นจึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีรายงานแรกของโลกในบ้านเรา 

ข้อมูลจากคุณก้อย เจ้าของคลิป ระบุรายละเอียดชัดเจน

วันที่พบ : วันจันทร์ที่ 1 มกราคม 2567 เวลา 16.00 น. 

สถานที่พบ : ระยะประมาณ 9 กม. ทางใต้ของเกาะคอรัล (เกาะเฮ) จ.ภูเก็ต (ได้พิกัดส่งทช.แล้ว)

เรือที่พบ : เรือ Happy Ours 

รายละเอียดจากคุณก้อย :  “พบวาฬสองตัวที่คิดว่าน่าจะเป็นวาฬชนิดเดียวกัน ว่ายอยู่ด้วยกัน ตัวหนึ่งมีสีขาวสวยงาม อีกตัวหนึ่งสีปกติบ้านเรา (คุณก้อย) ตั้งชื่อน้องว่า “ถลาง”  สำหรับวาฬสีขาว และ “บูกิต” สำหรับวาฬสีปกติ 

หากน้อง ๆ ยังอยู่กับเรา โดยเฉพาะน้องถลาง รับประกันว่าอันดามันดังระเบิด ต่อให้ป๋านักดูวาฬระดับโลกก็ยังต้องอยากมาเห็น หากพบเจอน้องอีก รายงานกรมทะเลทันทีครับ ที่สำคัญ อย่าเข้าไปใกล้เกินไป รักษาระยะห่าง ดับเครื่อง อย่าวิ่งเรือตัดหน้า ฯลฯ

หากเราเจอน้องบ่อยๆ จนแน่ใจสถานที่อาศัย จะเสนอให้เป็นสมบัติทะเลชาติด้วยซ้ำ เพราะอย่างที่บอก นี่ไม่ใช่เรื่องปรกติ นี่คืออะไรที่หายากจริง…ยิ่งกว่าจริง ขอบคุณ คุณก้อย Happy Ours  Phuket Charter Team 

ที่มา ฐานเศรษฐกิจ

Back To Top