9 เดือน หลังพ.ร.บ.ซ้อมทรมานและอุ้มหายฯ บังคับใช้ พบ 4 หน่วยงานยังไม่ฟ้องใคร แม้เข้าข่ายผิดเพียบ

ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เผย พ.ร.บ.ซ้อมทรมานและอุ้มหายฯ บังคับใช้มา 9 เดือนแล้ว ยังไม่มีไม่มีการฟ้องร้องผู้กระทำผิดสักคดี ทั้งที่มีเหตุเข้าข่ายการกระทำที่โหดร้ายฯ เพียบ พร้อมร้องเรียนซ้ำทั้งกรณีถูกซ้อมทรมานและถูกอุ้มคนหาย โดยกฎหมายให้อำนาจถึง 4 หน่วยงาน อัยการ ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และ DSI สามารถฟ้องคดีเพื่อลดภาระประชาชน แต่มาตรการต่างๆ ก็ได้ผล ป้องกันการกระทำอันโหดร้ายได้ ถ้าร้องเรียนทันทีมี “ม้าเร็ว” ช่วยหยุดการละเมิดสิทธิ์ได้ทันที ด้านอัยการตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนทุกจังหวัด ทุกอำเภอ

ผ่านมา 9 เดือน ยังไม่มีการฟ้องคดีตาม พ.ร.บ.ซ้อมทรมาน

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและทนายความสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ขณะนี้การบังคับใช้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ( เรียกสั้นๆว่า พ.ร.บ.ซ้อมทรมานและอุ้มหายฯ) ผ่านมาแล้ว 9 เดือน ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 แต่มีเหตุการณ์ที่เข้าข่ายการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เกิดขึ้นแล้วหลายกรณี แต่ก็ยังไม่มีการฟ้องร้องต่อศาลตาม พ.ร.บ.นี้แม้แต่คดีเดียว

“มีเหตุการณ์ทหารเกณฑ์เสียชีวิตและบาดเจ็บ ที่เป็นข่าวและมีข้อมูลอยู่ในมือเราประมาณ 3-4 เคส แต่ยังไม่เป็นคดีสักคดีเลย” รวมถึงกรณีซ้อมทรมานในสถานสงเคราะห์เด็ก กรณีการทุบตีเด็กนักเรียนในโรงเรียน กรณีการเสียชีวิตในด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) หรือกรณีการใส่โซ่ตรวนผู้ต้องขังมาที่ศาล คือกรณีทนายอานนท์ นำภา

มีเหตุเข้าข่ายการกระทำที่โหดร้ายฯ เพียบ

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายกรณีที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ตามที่ปรากฏภาพข่าวตามสื่อสังคมออนไลน์แต่ยังไม่สามารถดำเนินคดีกับครูหรือโรงเรียนได้เลย หรือกรณีสถานสงเคราะห์ที่ให้เด็กผู้หญิงกินน้ำสกปรกในห้องน้ำที่ จ.สระบุรี หรือสถานที่บำบัดผู้ติดยาเสพติดที่มีการล่ามโซ่ ปล่อยให้อดอยาก เป็นต้น

พรเพ็ญ เปิดเผยด้วยว่า สำหรับเคสที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมกำลังช่วยเหลือเพื่อให้มีการฟ้องศาลตาม พ.ร.บ.ซ้อมทรมานและอุ้มหายฯ ขณะนี้ มี 4 กรณี เป็นกรณีทหารเกณฑ์ 2 กรณีคือที่ จ.เชียงรายและที่กรุงเทพมหานคร กรณีผู้ลี้ภัยต่างชาติและกรณีผู้ถูกจับตามกฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้

กฎหมายให้อำนาจ 4 หน่วยงานรัฐฟ้องคดีลดภาระประชาชน

ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม อธิบายว่า การฟ้องร้องตาม พ.ร.บ.ซ้อมทรมานและอุ้มหายฯ นั้นได้ให้อำนาจ 4 หน่วยงานของรัฐ คืออัยการ ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และ DSI (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) แต่ยังไม่มีการฟ้องร้องดำเนินคดี แม้มีการร้องเรียนแล้วก็ตาม

“ส่วนเหยื่อหรือผู้เสียหายก็สามารถฟ้องร้องเองได้ แต่เนื่องจาก พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้ให้อำนาจให้ 4 หน่วยงานดังกล่าวแล้วเพื่อที่จะแบ่งเบาภาระของประชาชนไม่ต้องไปฟ้องเอง” พรเพ็ญ กล่าว

มาตรการได้ผล ป้องกันการซ้อมทรมานได้

ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยด้วยว่า มูลนิธิผสานวัฒนธรรมพยายามช่วยคดีที่เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ซ้อมทรมานและอุ้มหายฯ แต่ก็มีหลายคดีที่มีการกระทำอันโหดร้ายทารุณที่อยู่นอกสายตาและเราตามไม่ทัน เช่น คดีเจ้าหน้าที่จับกุมวัยรุ่นด้วยวิธีการที่โหดร้าย คดีทะเลาะกันที่มีการใช้ความรุนแรง “อย่างน้อยคดีที่เกี่ยวข้องกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายคดีและคดีอื่นๆ สามารถที่จะป้องกันการซ้อมทรมานได้ด้วยการติดกล้องบันทึกการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐ การดำเนินมาตรการต่างๆ ที่เขียนไว้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็ได้ผลในระดับหนึ่งแล้ว”

พรเพ็ญ กล่าวว่า การที่ พ.ร.บ.ซ้อมทรมานและอุ้มหายฯ จึงให้อำนาจตำรวจ อัยการ ฝ่ายปกครองและ DSI ทำหน้าที่ตั้งแต่เริ่มต้น คือรับเรื่องร้องเรียนแล้วสอบสวนได้เลย เพราะฉะนั้นขั้นตอนการเริ่มต้นค้นหาความจริงจึงสำคัญมากในคดีซ้อมทรมานและอุ้มหาย เพราะหากเริ่มช้าก็มีความเป็นไปได้ว่า จะมีการยืดการละเมิดสิทธิต่อไปได้ โดยกรณีตำรวจตรวจคนเข้าเมือง(ตม.)จับชาวต่างชาติ ทางมูลนิธิฯ พยายามใช้กรณีนี้เป็นกรณีตัวอย่างในการร้องเรียนให้อัยการและฝ่ายปกครองเข้าไปตรวจสอบสถานที่ควบคุมตัว เพราะมีการไล่จับผู้ลี้ภัยชาวต่างชาติโดยไม่แจ้งเหตุ จนสุดท้ายจึงรู้ว่ามีการคุมตัวไว้ที่ ตม.จริงๆ อีกกรณี คือ การใส่โซ่ตรวนผู้ต้องขังคดี 112 คือ เก็ท โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง เพราะเห็นว่าเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดิฉันไปฟ้องศาลเองและศาลก็เรียกไต่สวนทันที โดยศาลเรียกไต่สวน 2 ครั้ง แต่สุดท้ายศาลแขวงธนบุรีก็มีคำสั่งว่า กรมราชทัณฑ์ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายแล้ว 

ร้องเรียนทันที มี “ม้าเร็ว” ช่วยหยุดการละเมิดสิทธิ์ได้ทันที

ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ยกตัวอย่างกรณีทนายอานนท์ว่า เป็นกรณีตัวอย่างที่อยากให้ทดลองใช้ เพราะจะมีการตรวจสอบทันที ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งจะช่วยได้เยอะเลย ถ้าทุกคนลุกขึ้นมาใช้สิทธิ์ตามกฎหมายนี้ แต่ตอนนี้ชาวบ้านก็รู้ถึงสิทธิตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้เยอะขึ้นแล้วเช่นกัน เช่นมีการถ่ายคลิปขณะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องที่กระทบกับตัวเรา

อีกตัวอย่าง คือ มีการร้องเรียนว่า มีญาติถูกทำร้ายร่างกายในค่ายทหารที่ จ.ปัตตานี อัยการจังหวัดลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบทันที กระทั่งวันรุ่งขึ้นญาติก็แจ้งว่าผู้ถูกคุมตัวไม่ถูกทำร้ายแล้ว กรณีนี้อย่างน้อยก็ทำให้อัยการรู้ว่าต้องทำอะไรบ้างหลังจากรับเรื่องร้องเรียนแล้ว คือต้องแสวงหาข้อเท็จจริงทันที เพราะฉะนั้นถ้าอัยการทำหน้าที่ของตัวเองก็จะทำหน้าที่คุ้มครองประชาชนได้เยอะเลย 

พรเพ็ญ กล่าวว่า เมื่อก่อนกลไกนี้เรียกว่าม้าเร็ว นั่นคือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แต่ตอนนี้เรามีม้าเร็วที่เป็นรัฐด้วยกันแล้ว ซึ่งสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการทำร้ายร่างกายได้ สามารถหยุดการละเมิดสิทธิ์ได้

ร้องเรียนซ้ำ 4 กรณีคนหาย เจ้าหน้าที่ยังไม่เข้าใจหลักการ

ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยด้วยว่า ทางมูลนิธิยังนำกรณีคนหายก่อนจะบังคับใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้อีก 4 กรณีมาร้องเรียนหน่วยงานรัฐให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ซ้อมทรมานและอุ้มหายฯ ด้วย ได้แก่ คดีวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์, คดีสยาม ธีรวุฒิ, คดีสุรชัย แซ่ด่าน และ คดีสหาย ภูชนะส่วนใหญ่เป็นคดีที่อยู่ในการสืบสวนสอบสวนของรัฐอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่คืบหน้า จึงร้องเรียนซ้ำเพื่อให้นำมาตรฐานของกฎหมายใหม่มาปรับใช้

“แต่ความพยายามนี้ยังไม่ได้ผล เพราะเจ้าหน้าที่รัฐยังไม่เข้าใจหลักการสากลที่เกี่ยวข้องกับการอุ้มหายทั้งหมดมากนัก เราจึงต้องทำงานกับเหยื่อบ้าง หรือทำงานกับหมอบ้าง” พรเพ็ญ กล่าว

พรเพ็ญ กล่าวว่า แม้จะมีกรณีที่เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.นี้หลายกรณี แต่คนทำงานในเรื่องนี้มีไม่เยอะเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นทนาย นักสิทธิมนุษยชนหรือผู้เสียหายที่รู้สิทธิของตนเอง และยังไม่มีกลไกที่จะสนับสนุนการเรียกร้องสิทธิตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้มากนัก เพราะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่มาก

คดีพลทหารถูกซ้อมไม่ต้องขึ้นศาลทหารอีกต่อไปแล้ว

ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า กรณีพลทหารเสียชีวิตและบาดเจ็บจาการถูกลงโทษนั้น ซึ่งเข้าข่ายความผิดพ.ร.บ.ซ้อมทรมานและอุ้มหายฯนั้น จะไม่ขึ้นศาลทหารอีกแล้ว เพราะ พ.ร.บ.ฉบับนี้ บัญญัติให้ผู้ที่กระทำผิดดังกล่าวซึ่งเป็นคดีอาญาจะต้องขึ้นศาลพลเรือน แม้ผู้กระทำความผิดจะเป็นทหารก็ตาม โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรมจะนำไปร้องเรียนต่ออัยการเพื่อนำไปฟ้องผู้กระทำผิดต่อศาลอาญา เพราะฉะนั้นคดีของพลทหารวิเชียร เผือกสม ที่ถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิตเมื่อ 13 ปีก่อนและศาลมณฑลทหารบกที่ 46 จ.ปัตตานีได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ให้จำคุก ร.ท.ภูริ เพิกโสภณ พร้อมพวกรวม 9 คน ที่รุมซ้อมทรมานพลทหารวิเชียรจนเสียชีวิตเมื่อปี 2554 จะเป็นคดีสุดท้ายที่ขึ้นศาลทหาร

อัยการตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนทุกจังหวัด ทุกอำเภอ

ปัจจุบันอัยการทุกจังหวัดได้ตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการทรมานและการอุ้มหายแล้ว และฝ่ายปกครองในทุกอำเภอก็ตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนด้วยเช่นกัน โดยมีเจ้าหน้าที่เวรประจำตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งที่เกิดขึ้นจาก พ.ร.บ.ซ้อมทรมานและอุ้มหายฯ

ที่มา ประชาไท

Back To Top