20 พ.ย.2566 ที่พระราชวังเดิม ของบัญชาการกองทัพเรือ พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าเรื่องเรือดำน้ำ กองทัพเรือได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว อดีตผู้บังคับบัญชาทุกท่านได้นำยุทธศาสตร์กองทัพเรือที่เราจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำ 4 ลำเดินหน้าเพื่อให้มีเรือดำน้ำให้ได้ การมีเรือดำน้ำ คงไม่ใช่เพราะเขามี แต่เราจำเป็นต้องมีเพราะมิติใต้น้ำเรายังบกพร่อง เรือดำน้ำเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์ พูดออกสื่อลำบาก
แต่เข้าใจว่าทุกคนคงเข้าใจ ว่าเรามีเรือดำน้ำไว้ทำอะไร อดีตผู้บังคับบัญชาก็เดินหน้าโครงการนี้มานานแล้วปี 2558 เราเริ่มลงนามกันปี 2560 ในช่วงที่มีการลงนามการกำหนดความต้องการตาม tor ซึ่งกำหนดว่าเป็นเครื่องยนต์โดยเขียนรวมๆ ว่า เราต้องการ diesel generator set ในขณะที่จีนเสนอ MTU 396 และตบท้ายด้วยว่า GB31L (ผลิตในจีน)
ซึ่งขณะนั้นจีนยังคงได้ลิขสิทธิ์ในการผลิตจากเยอรมันในการใช้งาน และการส่งออก จึงเซ็นสัญญากัน ยืนยันว่า ณ วันนั้นไม่มีฝ่ายใดบกพร่อง ต้องกราบขอโทษประชาชน ที่กองทัพเรือไม่ได้พูดอะไรออกมาเพราะหลังที่ตนรับหน้าที่ได้ทำหนังสือถึงจีนขออนุญาตเปิดเผยข้อมูลในสัญญาบางส่วนได้หรือไม่เพราะที่ผ่านมาไม่ได้มีการทำหนังสือจึงต้องขออนุญาตก่อน ถือเป็นมารยาทระหว่างประเทศ และจีนก็อนุญาตให้กองทัพเรือเปิดเผยได้ตามที่จำเป็น
จนปี 2562 จีนได้ทำหนังสือถึงกองทัพเรือไทยแจ้งว่าเครื่องยนต์มีปัญหา เพราะทางเยอรมันไม่อนุญาตให้ทำได้ ซึ่งผู้แทนกองทัพเรือที่ประเทศจีน ได้ทำหนังสือตอบโต้กลับอยู่หลายฉบับ เพื่อยืนยันตามความต้องการเดิมคือเครื่องยนต์เยอรมัน โดยได้ดำเนินการทุกวิถีทาง และอดีตผู้บังคับบัญชาทุกท่านได้เจรจากับเยอรมัน รวมถึงสถานทูต เจรจา
จนกระทั่งปี 2564 จีนมีหนังสือแจ้งมาว่าไม่น่าจะได้แล้ว ขอให้มาร่วมช่วยกันหาทางออก ทาง พล.ร.อ.เชิงเชิงชาย ชมเชิงแพทย์ อดีต ผบ. ทร. คนก่อน ได้ให้กรมอู่ทหารเรือ เดินทางไปตรวจสอบเครื่องยนต์ CHD 620 ที่จีนผลิต และได้ทดสอบทุกมิติ ทดลองเครื่องด้วยการวิ่ง 200 ชั่วโมงไม่มีการหยุด ทำทุกอย่างตามข้อตกลงผลที่ออกมาจึงมีรายงานถึงอดีต ผบ.ทร. ว่าเครื่องยนต์น่าจะโอเค จนเป็นที่มาของการเซ็นหนังสือ ถึงกระทรวงกลาโหมเพื่อขออนุญาตเปลี่ยนเครื่องยนต์เรือดำน้ำ ถือเป็นทางออกที่กองทัพเรือทำได้ดีที่สุด
“รัฐบาลให้เงินกองทัพเรือมาซื้อเรือดำน้ำ กองทัพเรือก็ทำหน้าที่ซื้อเรือดำน้ำให้ได้ เราไม่มีหน้าที่ที่จะมาบอกว่าเปลี่ยนเป็นเรืออื่น เพราะตามระเบียบการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ให้เงินมาซื้อเรือดำน้ำต้องได้เรือดำน้ำ เมื่อเรื่องมาถึงรัฐบาลใหม่ ซึ่งกองทัพเรือต้องกราบขอบคุณนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่ช่วยเจรจากับเยอรมันและจีน ซึ่งก็ยังเป็นคำตอบเดิม” ผบ.ทร.กล่าวและว่า
เมื่อมาถึงขั้นตอนที่คิดว่าต้องทำอย่างไรดี ถ้าเรือดำน้ำมาถึงทางตันเราจะเสนอเรืออะไรดี ซึ่งตนได้ขอไปว่าขอให้เงินจำนวนนี้เป็นเงินของกองทัพเรือ ซื้ออาวุธให้กองทัพเรือ เรือที่น่าจะเหมาะสมคือเรือผิวน้ำ ขอย้ำว่าเรือผิวน้ำ อย่าพึ่งไปพูดถึงเรือฟริเกต หรือเรือ OPV หรืออะไรก็แล้ว ตนจะขอรับผิดชอบคิดให้ การจะซื้อเรือลำนึงมีปัจจัยเป็นองค์ประกอบมากมาย เพราะยังต้องเจรจาอีกหลายขั้นตอน
“กระทรวงกลาโหมได้ทำหนังสือถึงกรมพระธรรมนูญ โดยสอบถามไปว่าการจะแก้ไขสัญญาใครเป็นผู้อนุมัติ ครม. หรื สภา รวมถึงขั้นตอนต่างๆ เป็นอย่างไร ในขณะเดียวกันกองทัพเรือได้ทำหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุด สอบถามใน 3 ประเด็น คือ 1.การปรับแก้เครื่องยนต์เป็นสาระสำคัญหรือไม่ 2.การจะเปลี่ยนเรือดำน้ำมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ไม่ใช่อยู่เฉยๆ จะมาบอกว่าเปลี่ยนได้ 3.อนุมัติให้แก้ไขเครื่องยนต์ อำนาจอยู่ที่ใคร” ผบ.ทร.กล่าว
ผบ.ทร. ยังย้ำว่า อยากให้รอคำตอบจากอัยการสูงสุด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 30 วันหลังจากส่งหนังสือไป จากนั้นกระทรวงกลาโหม และกองทัพเรือ จะพิจารณาว่าจะเดินหน้าอย่างไร ขอให้ใจเย็นและยืนยันว่ากองทัพเรือจะใช้งบประมาณให้คุ้มค่า ตอบโจทย์ภาระหน้าที่การรับผิดชอบอธิปไตยให้กับคนไทยอย่างดีที่สุด
ส่วนสัญญาจะสิ้นสุด 30 ธ.ค. 66 ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลอะไร ทุกอย่างยังเดินหน้าต่อไปได้ ก็คิดค่าปรับตามระเบียบพัสดุฯ แต่เมื่อมีเหตุผลรองรับการทำเรื่องขอลดหย่อนค่าปรับ สามารถอธิบายกันได้ตามเหตุผลและความจำเป็น ซึ่งยืนยันว่ากองทัพเรือจะทำตามระเบียบทุกขั้นตอน โดย 15 วันก่อนหมดสัญญา กองทัพเรือจะทำหนังสือแจ้งเตือน พร้อมยอมรับเป็นเรื่องยาก หากง่ายคงเสร็จไป แต่จะต้องจบในยุคของตน เพราะจะสิ้นสุดสัญญาแล้ว ต้องทำอะไรให้ชัดเจน
เมื่อถามว่าทางจีนไม่รับการตอบสนองหากเปลี่ยนเป็นเรือผิวน้ำ ผบ.ทร. กล่าวว่า คงเป็นเหมือนทั่วไปเพราะเขาต่อมาครึ่งลำแล้ว การจะไปขอยกเลิกหรือเปลี่ยนอะไรไม่ใช่เรื่องง่าย และการจะเปลี่ยนเป็นเดือนผิวน้ำก็เป็นอีกบริษัทหนึ่งถ้าเป็นบริษัทเดียวกันก็ยังพอเข้าใจกันได้ขอให้รอเวลา
เมื่อถามว่า ได้มีการพูดคุยกับรัฐบาลและ รมว.กลาโหม ถึงความต้องการเปลี่ยนเครื่องยนต์เรือดำน้ำ เราสู้ตรงนี้ได้หรือไม่ ผบ.ทร. กล่าวว่าการสู้ตรงนี้ก็คือการที่พลเรือเอกเชิงชายได้ทำหนังสืออธิบายว่ากองทัพเรือเดินหน้าแต่ผู้บริหารระดับบนมีในเรื่องของกฎหมาย ซึ่งทางกองทัพเรือก็เข้าใจ น้อมรับการตัดสินใจของรัฐบาลและกลาโหม และสุดท้ายไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดของคนไทย ตนขอยืนยัน
เมื่อถามว่าถือเป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของการจะมีหรือไม่มีเรือดำน้ำ ในยุค ผบ.ทร. คนปัจจุบัน พล.ร.อ.อะดุง ยอมรับว่า ใช่ ประวัติศาสตร์ไม่สำคัญ ขอให้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อและมีการตัดสินใจที่ถูกต้อง อีกทั้งได้อธิบายกับผู้บังคับบัญชาว่าเครื่องยนต์จีนพัฒนามาจากเครื่องยนต์เยอรมันที่ผลิตในจีน ซึ่งมีไลเซนส์ หรือใบอนุญาต อยู่ เพียงแต่ไม่ใช่ชื่อเครื่องยนต์ MTU เท่านั้นเอง โดยตามกฎหมายเข้าใจกันได้ แต่ตามลายลักษณ์อักษรมันไม่ง่าย
“ผมเข้าใจคนที่จะเซ็นอนุมัติ เพราะความเป็นห่วง เราจะพยายามทำทุกอย่างให้มันผ่านไปด้วยดี คนเซ็นก็ไม่มีความกังวล ยอมรับว่าผมก็ใจร้อนเช่นกัน และขอให้อานุภาพกรมหลวงเสด็จเตี่ย ช่วยดลบันดาลให้เรือลำนี้จบลงด้วยดี”
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ