เรือฟริเกต คืออะไร “เศรษฐา-สุทิน” ยันไม่เสียเปรียบเปลี่ยนเรือดำน้ำ ไปซื้อฟริเกต เชื่อว่ามีข่าวดี
วันที่ 25 ตุลาคม 2566 กำลังเป็นที่จับตามองของประชาชนในขณะนี้ คือเรื่องการชะลอการจัดซื้อเรือดำน้ำ และเปลี่ยนมาเป็นเรือฟริเกตกับประเทศจีน หลังนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องดังกล่าว ทำให้เป็นวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างว่าคุ้มค่าหรือไม่
โดย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร ได้รีทวิตข้อความบน x หรือทวิตเตอร์ บทวิเคราะห์ ของเว็บไซค์ชื่อดัง http://ThaiArmedForce.com โดยระบุว่า “กรณีเรือดำน้ำ รวมทั้งกรณีการกู้เรือรบหลวงสุโขทัย กมธ.ทหาร ได้เชิญกองทัพเรือมาชี้แจงรายละเอียด และข้อเท็จจริงในสัปดาห์หน้าครับผม”
ทั้งนี้ บทความของ http://ThaiArmedForce.com ชื่อ รัฐบาลผุดไอเดีย ยกเลิกเรือดำน้ำ เติมเงินเพิ่มซื้อเรือฟริเกตจีน ดีลมหัศจรรย์ที่ไม่รู้ว่าใครคุ้มกันแน่ โดยมีเนื้อหา ถ้าดีลนี้เกิดจริง จะถือเป็นดีลที่ยอดเยี่ยมของจีน เรื่องนี้เข้าใจแล้วว่า คนเป็นน้องต้องทำตัวอย่างไร เพราะแม้รัฐบาลจะยกเลิกการจัดหาเรือดำน้ำ แต่รัฐบาลจะเติมเงินโดยการจ่ายเงินเพิ่มอีกสูงสุด 1 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 1.7 หมื่นล้านบาท เพื่อซื้อเรือฟริเกตของจีนแทน ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ฝ่ายไทยไม่ได้ผิด
เรือฟริเกต คืออะไร
เรือฟริเกต เป็นเรือรบที่สร้างขึ้นเพือความรวดเร็ว และความคล่องตัว มีจุดประสงค์เพื่อใช้ในภารกิจสอดแนม คุ้มกัน ลาดตระเวน เรือประเภทนี้มีลักษณะเฉพาะคือมีดาดฟ้าติดอาวุธเพียงชั้นเดียว โดยด้านล่างมีดาดฟ้าติดอาวุธสำหรับจอดเทียบท่าลูกเรือ
เรือฟริเกต คือเรือรบบนน้ำ ทำการรบได้ 3 มิติ คือ รบบนฟ้า รบบนน้ำ และรบใต้น้ำ โดยกองทัพเรือไทยมีเรือฟริเกตที่ประจำการอยู่ทั้งหมด 5 ลำ ประกอบด้วย เรือตากสิน,เรือนเรศวร,เรือกระบุรี,เรือสายบุรี และเรือภูมิพลอดุลยเดช
กองเรือฟริเกตที่ 1 กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ
ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 มกราคม ปี2496 เป็นหน่วยกำลังรบทางเรื่องที่เก่าแก่ที่สุดของกองทัพเรือไทย ต่อมาได้รับการเปลี่ยนชื่อหน่วยตามการแก้ไขอัตราจัดกองเรือยุทธการใหม่ พร้อมกับเปลี่ยนแปลงกองกำลังทางเรือของฟริเกตครั้งที่ 1 ด้วยการปลดประจำการเรือฟริเกตชุดเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก 2 ลำ ต่อมาในปี 2565 ก็ได้ปลดประจำการเรือฟริเกตชุดเรือหลวงตาปี และได้ปลดประจำการเรือหลวงคิรีรัฐในปี 2566
กองเรือฟริเกตที่ 2 กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ
จัดตั้งเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535 โดยกระทรวงกลาโหม ได้อนุมัติให้กองทัพเรือปรับโครงสร้างหน่วยกำลังรบใหม่ โดยจัดแบ่งกองเรือตามประเภทจากเดิม 4 กองเรือ เป็น 9 กองเรือ กองเรือฟริเกตที่ 2 ประจำการด้วยเรือฟริเกตที่ซื้อมาจากประเทศจีน โดยกองเรือฟริเกตที่ 2 มีหน้าที่ในการจัด และเตรียมกำลัง สำหรับการปฏิบัติการผิวน้ำ การปราบเรือดำน้ำ และป้องกันภัยทางอากาศ
เศรษฐา ยัน ไม่เสียเปรียบเปลี่ยนเรือดำน้ำไปซื้อ ฟริเกต
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความชัดเจนการเปลี่ยนไปซื้อเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกตจีน ว่าขอให้นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้ให้ข้อมูล หากมีข้อมูลครบแล้วค่อยดำเนินการเจรจา แต่เชื่อว่าจะมีข่าวดีและมีความคืบหน้าไปได้ด้วยดี ขอให้เกียรติทางกระทรวงกลาโหม (กห.) ทำงานก่อนหลังไปเจรจามาแล้ว และยืนยันว่าการพูดคุยเป็นไปด้วยบรรยากาศที่ดี ยืนยันประเทศไทยจะไม่เสียเปรียบ
ขณะที่ นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร สภาผู้แทนราษฎร เตรียมเชิญเข้าชี้แจงกรณีซื้อเรือฟริเกตแทนเรือดำน้ำในวันที่ 26 ตุลาคมนี้ ว่าไปได้ พร้อมชี้แจงทุกที่ ทราบว่าทาง กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร จะมาพบตนเองด้วยนั้นก็ยินดีเพราะจะได้ทำความเข้าใจกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า การเปลี่ยนมาซื้อเรือฟริเกตทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้น นายสุทินกล่าวว่า ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างเราเดินหน้าต่อคือเอาเรือเครื่องยนต์จีน หรือเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกต ซึ่งไม่ได้มีส่วนเสียหาย และคิดแบบรอบคอบแล้วทุกมิติ ทางออกนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่หากเดินหน้าต่อจะเกิดคำถามมากกว่านี้
“ไทยไม่เสียเปรียบ เพราะต้องดูที่มูลค่าของแต่ละอย่างด้วย หากมูลค่าเรือถูกอยู่แล้วแต่มีการบวกอย่างอื่นแพง แบบนี้เราเสียเปรียบ ทั้งนี้ ทุกอย่างอยู่บนราคาที่รู้กันทั่วโลก ราคามาตรฐาน และจีนไม่ได้ผิดสัญญา แต่ทุกอย่างไม่เป็นไปตามข้อตกลง ซึ่งมีมิติของความเป็นมิตรระหว่างประเทศ มิติความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ที่ต้องพิจารณาประกอบ โดยใช้กลไกของกระทรวงกลาโหมในการพูดคุยกับจีนก่อน คนไทยจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ เชื่อว่าจะสามารถอธิบายได้” นายสุทินกล่าว