กรมควบคุมมลพิษผนึกกำลังจังหวัดสุราษฎร์ธานีและภาคเอกชนแก้ไขปัญหาขยะเกาะเต่าทั้งระบบ

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2566 นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เกียรติเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) โดยการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ พัฒนาระบบขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility : EPR)และระบบจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่เกาะเต่า เพื่อขับเคลื่อนให้เกาะ
เต่ามุ่งสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พร้อมด้วยกรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมการท่องเที่ยวเทศบาลตำบลเกาะเต่า มูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (มูลนิธิ 3 R) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน(GIZ) บริษัท พี ออลล์ จำกัด (มหาชน) สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะเต่าและชมรมรักษ์เกาะเต่า ณ โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ด้านกรมควบคุมมลพิษ โดย ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่าในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องของการจัดการสิ่งแวดล้อม อยู่ระหว่างการศึกษากฎหมายการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน เพื่อที่จะลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์อย่างไม่ถูกต้อง โดยจะผลักดันให้ขยะเหล่านี้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยใช้หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ Extended Producer Responsibility (EPR) เพื่อที่จะให้ผู้ที่จำหน่ายบรรจุภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ บนเกาะเต่าร่วมรับผิดชอบในการนำบรรจุภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ กลับคืนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของตน และจะใช้เกาะเต่าเป็นพื้นที่นำร่องในการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ที่จะนำขึ้นเกาะโดยเริ่มจากเบียร์ขวด ให้เป็นเบียร์กระป๋องอลูมิเนียมแทน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566 โดยร้านค้าบนเกาะเต่าได้ให้ความร่วมมือที่จะดำเนินการร่วมกัน เพื่อที่จะลดปัญหาบรรจุภัณฑ์ที่จะต้องถูกนำไปกำจัด นอกจากนี้ จะรณรงค์ในการลดการใช้ขยะพลาสติกต่าง ๆ แบบใช้ครั้งเดียวหรือ Single use plastic เพื่อลดปริมาณที่จะต้องนำไปกำจัดรวมทั้งปริมาณที่อาจหลุดรอดไปเป็นขยะทะเล และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ

นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในวันนี้ เพื่อที่จะขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะบนเกาะเต่าซึ่งมาพร้อมกับการท่องเที่ยวที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้เน้นความสำคัญในเรื่องการจัดการขยะโดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวบนเกาะ และความร่วมมือดังกล่าวมาจากภาคธุรกิจเอกชนบนเกาะที่ได้เล็งเห็นความสำคัญและมีความตระหนักในการที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกันเพื่อให้เกาะเต่าเป็นแหล่งดำน้ำที่มีความสวยงาม ไม่มีขยะพลาสติกในทะเล ไม่มีขยะขวดแก้วที่จะตกค้างในพื้นที่ และมุ่งสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หรือ Eco-tourism ที่จะให้นักท่องเที่ยว ประชาชน ผู้ประกอบการและภาครัฐ มีส่วนร่วมในการจัดการร่วมกันตั้งแต่การเลือกประเภทผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้นไปยังเกาะเต่า โดยจะเน้นผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ได้ และยังเป็นการลดปริมาณขยะที่เทศบาลตำบลเกาะเต่าจะต้องนำไปกำจัด

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี

Back To Top