ศาลฎีกา จำคุก “ทักษิณ” 3 คดี เป็นเวลา 8 ปี ราชทัณฑ์รับเข้าแยกขังเดี่ยว แดน 7 เฉพาะสำหรับบุคคลมีโรคประจำตัว

ศาลฎีกาออกหมายจำคุกอดีตนายกฯ “ทักษิณ ชินวัตร” 3 คดี รวมโทษ 8 ปี ส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที

วันนี้ เวลา 10.40 น.  พันตำรวจเอก คมวุฒิ จองบุญวัฒนา ผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมือง ท่าอากาศยานกรุงเทพ กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 ได้นำบุคคลตามหมายจับมาส่งต่อศาลผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสามคดียืนยันว่า บุคคลที่ อยู่ต่อหน้าศาลเป็นจำเลยหรือจำเลยที่ 1 ในคดีทั้งสามคดี

จำเลยหรือจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นจำเลยในคดีทั้งสาม ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตรวจสอบบุคคลที่ อยู่ต่อหน้าศาลแล้ว เป็นจำเลยหรือจำเลยที่ 1 ในคดีทั้งสามคดี ดังนี้ 

(1) คดีหมายเลขดำที่ อม. 3/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 ระหว่าง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
แห่งชาติ ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน โจทก์ พันตำรวจ โททักษิณ หรือนายทักษิณ ชินวัตร จำเลย

(2) คดีหมายเลขดำที่ อม. 1/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 10/2552 ระหว่าง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน โจทก์ พันตำรวจโท ทักษิณ หรือนายทักษิณ ชินวัตร ที่ 1 กับพวกรวม 47 คน จำเลย

(3) คดีหมายเลขดำที่ อม. 9/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 5/255ของศาลนี้ ระหว่างอัยการสูงสุด โจทก์ พันตำรวจโท ทักษิณ หรือนายทักษิณ ชินวัตร จำเลย

จึงรับตัวจำเลยหรือจำเลยที่ 1 ในคดีทั้งสามคดีดังกล่าวไว้

ศาลได้แจ้งให้จำเลยหรือจำเลยที่ ดู ทราบคำพิพากษาแล้ว โดยคดีหมายเลขดำที่ อม. 3/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.4 /2551 ลงโทษจำคุก 3 ปี (สามปี) คดีหมายเลขดำที่ อายเลขแดงที่ อม. 1/2551 ลงโทษจำคุก 2 ปี (สองปี) และคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อม. 9/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 5/2551 ลงโทษจำคุกรวม 5 ปี (ห้าปี) นับโทษจำคุกของจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 และต่อจากโทษจำคุกของในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 10/2552 ศาลออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดในแต่ละคดีแล้ว

ราชทัณฑ์ รับตัว “ทักษิณ” แยกขังเดี่ยวไว้แดน 7 จัดเจ้าหน้าที่ดูแล 24 ชั่วโมง เพราะเป็นกลุ่มเปราะบางมีโรคประจำตัวต้องเฝ้าระวัง พร้อมจัดสถานที่ให้ญาติ-คนใกล้ชิดเข้าเยี่ยม

วันนี้ 22 ส.ค. 2566 นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายสิทธิ สุชีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายนัสที ทองปลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และ นพ.วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาล ร่วมแถลงถึงขั้นตอนการรับตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าสู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ได้ดำเนินการตามมาตรการนโยบายที่ผู้บังคับบัญชาได้มอบไว้ 3 ประการ

1.เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จะดูแลเรื่องความปลอดภัยอดีตนายกฯเป็นหลักไปก่อนเนื่องจากในเรือนจำมีผู้ต้องขังหลายคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นอยู่ อาหาร น้ำดื่ม และการเยี่ยมต่างๆ  

2. เนื่องจากอดีตนายกฯมีครอบครัว เพื่อนและองค์กรต่างๆที่อาจจะมาเยี่ยมเป็นจำนวนมาก ทางเรือนจำจะจัดสถานที่ต่างๆ ให้เรียบร้อย และ ได้มอบนโยบายไว้แล้วเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ปกติแล้วจะมีการจัดเยี่ยมตามแดนต่างๆเรื่องการเยี่ยมอาจอะลุมอล่วย เพราะมีเพื่อน และองค์กรอิสระต่างๆมาพบปะกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เรือนจำจะต้องทำให้เรียบร้อย โดยขณะนี้ได้เตรียมห้องเยี่ยมไว้พร้อมแล้ว  

3.เนื่องจากนายทักษิณ เป็นผู้สูงอายุ 74 ปี ทางเรือนจำจะต้องดูเรื่องสุขภาพเป็นหลักเพื่อไม่ให้เจ็บป่วยขึ้นมา หากเจ็บป่วยขึ้นมา ระหว่างอยู่ในเรือนจำจะมีปัญหามาก

นายอายุตม์ กล่าวว่า ทั้ง 3 ประการนี้ทางกรมราชทัณฑ์ได้รับตัวอดีตนายกฯ เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ศาลมายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และได้ทำประวัติ ตรวจสุขภาพเรียบร้อย ตอนนี้อยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯอย่างปลอดภัย

ด้าน นายสิทธิ สุชีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯได้รับตัวนายทักษิณ ชินวัตร เรียบร้อยแล้ว โดยได้ดำเนินการตรามาตรการรับตัวคนเข้าใหม่ จัดทำทะเบียนประวัติ ตรวจสุขภาพจากแพทย์ ของทัณฑสถานโรงพยาบาล ซึ่งพบว่า นายทักษิณ เป็นกลุ่มเปราะบางเนื่องจากอายุเกิน 60 ปี ปัจจุบันก็ 74 ปี เมื่อ ตรวจสอบประวัติการรักษาที่ผ่านมา ประกอบกับการตรวจของแพทย์เบื้องต้นพบว่ามีโรคประจำตัวต้องเฝ้าระวัง และรักษาอย่างต่อเนื่องต้องติดตามอาการจากแพทย์เฉพาะทาง

เบื้องต้นทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯได้แยกขังไว้ที่แดน 7 ซึ่งเป็นสถานพยาบาลของเรือนจำ เพื่อความปลอดภัยก็แยกขังไว้คนเดียว จัดเจ้าหน้าที่ดูแลเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง  

ด้าน นายนัสที ทองปลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การปฏิบัติ หลังจากรับตัวถูกต้องครบถ้วน ก็จำแนกดูแลตามลักษณะของผู้ต้องขัง กรณีที่ผู้ต้องขังเป็นกลุ่มเปราะบางก็ปฏิบัติตามระเบียบของเรือนจำ จะต้องมีแดนเพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยก็คือจุดสถานพยาบาล จัดเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ก็เป็นเหมือนกับผู้ที่อยู่ข้างในทุกคน ไม่ว่าจเป็นเรื่องการกินอาหาร หรือกิจวัตรตามระเบียบประจำวัน

ที่มา-ภาพ : PPTV36

Back To Top