มาร์ชพิทักษ์สันติราษฎร์
มาร์ชพิทักษ์สันติราษฎร์ หรือคนทั่วไปเรียก เพลงเกียรติตำรวจของไทย ตามเนื้อร้องวรรคแรก หรือ มาร์ชตำรวจ เป็นเพลงปลุกใจและเพลงมาร์ชประจำตำรวจไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วไป ประพันธ์ทำนองโดย นารถ ถาวรบุตร และเนื้อร้องโดย แก้ว อัจฉริยกุล แต่งขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2500 บรรเลงโดยวงดนตรีกระชับมิตร ในสังกัดกรมตำรวจ
ชรินทร์ นันทนาครได้เล่าไว้ในคอลัมน์หกแยกบันเทิง ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เมื่อปี พ.ศ. 2539 ไว้ว่า ครู นารถ ถาวรบุตร แต่งเพลงนี้ขึ้นโดยคำสั่งของพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องแพ้เพลงมาร์ชกองทัพบกไม่ได้เป็นอันขาด ซึ่งครูนารถได้เล่าเรื่องการแต่งเพลงนี้ให้ชรินทร์ฟังในภายหลังอย่างติดตลกว่า “ฉันไม่อยากแต่งเลยวะ ชรินทร์ เพราะฉันไม่ค่อยชอบตำรวจ มันมาจับฉันเรื่อย เวลาฉันเล่นไพ่”
แม้ครูนารถจะไม่ชอบตำรวจนักแต่ท่านก็สามารถแต่งเพลงสำเร็จได้ในเวลาไม่นาน ปรากฏว่าพลตำรวจเอกเผ่าประทับใจกับผลงานชิ้นนี้มาก โดยเฉพาะเนื้อร้องในท่อน “เกิดมาแล้วต้องตาย ชาติชายเอาไว้ลายตำรวจไทย…” ถึงกับมอบรางวัลให้ครูนารถเป็นเงินปึกหนึ่ง พร้อมเขียนคำชมลงในกระดาษ มีนามบัตรและลายเซ็นส่วนตัว ซึ่งเขียนไว้ว่า “สำหรับครู เอาไว้ให้ตำรวจดู เวลาครูเล่นไพ่
เกียรติตำรวจของไทย เกียรติวินัยกล้าหาญมั่นคง
ต่างซื่อตรง พิทักษ์สันติราษฎร์นั้น
ถึงตัวจะตายก็ช่างมัน มิเคยคำนึงถึงชีวัน
เข้าประจันเหล่าร้าย เพื่อประชา
ไม่ยอมเป็นมิตร ผู้ผิดกฎหมาย
ปราบโจรผู้ร้าย กล้าตายเรื่อยมา
เนื้อของเราเราเชือด พร้อมทั้งเลือดเราพลี
เอาชีวีของเราเข้าแลกมา เพื่อให้ประชาดำรงสุขสถาพรชัย
เกิดมาแล้วต้องตาย
ชาติชายเอาไว้ลายตำรวจไทย ช่วยประชาไม่ว่าหนไหน
เป็นมิตรด้วยดวงจิตสดใส เราอยู่ไหนประชาอุ่นใจทั่วกัน
ปราบภัยและผองพาลให้เข็ดขาม เราปราบปรามเสริมความสุขสันต์
เหล็กที่แกร่งกล้านั้น เราฝึกกายาทุกวัน
แข็งกว่าเหล็กนั้น ตำรวจไทย
เพลงมาร์ชพิทักษ์สันติราษฎร์นี้ นอกจากจะเป็นเพลงแข่งอิทธิพลทางการเมืองระหว่าง พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ กับ พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผบ.ทบ. แล้วยังเป็นการแข่งขันของวงดนตรี BIG BAND ของไทย 2 วงซึ่งวงดนตรีกรมโฆษณาการที่เป็นเป้าหมายนั้น อาจไม่รู้ตัวว่าเป็นเป้าหมาย แต่วงดนตรีประสานมิตรของกรมตำรวจนั้น ตั้งเป้าหมายที่จะโค่นล้มความนิยมของวงดนตรีกรมโฆษณาการไว้อย่างแน่นอน
ในช่วงทศวรรษที่สอง หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง(หรือช่วงหนึ่งทศวรรษก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง 1914-1941) เป็นช่วงยุคทองของวงดนตรี BIG BAND มีวงที่มีชื่อโด่งดังมากมายหลายวง โดยเฉพาะยุคสวิง(SWING ERA) ราชายุคนี้เป็นใครไม่ได้ นอกจาก BENNY GOODMAN “KING OF SWIG” ผู้เคยนำวงมาแสดงที่สวนลุมพินีในงานฉลองรัฐธรรมนูญเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙ และเคย JAM กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯหลายครั้งทั้งในประเทศไทยและอเมริกา ดนตรีสวิงนั้นเป็นดนตรีลีลา และดนตรีฟังสำหรับคอแจ๊ส
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง มีวงดนตรีที่ได้รับความนิยมสูงเกิดขึ้นอีกวงหนึ่ง คือ วงของ GLEN MILLER ผู้ค้นพบการผสมผสานเสียงแนวแซกโซโฟนได้สำเนียงใหม่ที่หวานเจื้อยแจ้ว วงการดนตรีขนานนามเสียงสำเนียงนี้ว่า “MILLER SOUND” ขณะที่วงการดนตรียกย่องว่า เบนนี่ กู๊ดแมน เป็นราชาของ“ทางสวิง”นั้น ก็ต้องยอมรับว่า เกลน มิลเลอร์ ก็เป็นราชาของ“ทางหวาน” เช่นกัน เขาได้ประพันธ์เพลง MOONLIGT SERENADE อันเป็นเพลงที่เหมาะสมกลมกลืนกับ“ทางหวาน”ของเขาเป็นที่สุด เพลงนี้จึงเป็นเพลงอมตะอีกเพลงหนึ่ง ฟังเมื่อไรจับใจทุกเมื่อ
ในบ้านเรา ช่วงเวลาเดียวกันกับเวลาที่ได้กล่าวถึงนี้ ในบ้านเราก็เกิดวงดนตรีประเภท BIG BAND ขึ้นเป็นครั้งแรก คือ วงดนตรีของกรมโฆษณาการ(กรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน) หัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญในการก่อตั้งคือ หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ ตัวท่านเองเป็นนักดนตรีสมัครเล่น ในเครื่องมือกีตาร์-แบนโจ ท่านประพันธ์เพลงให้วงดนตรีกรมโฆษณาการไว้หลายเพลงในแนวแจ๊ส ที่รู้จักกันดี คือ เพลงคนึงคนึงครวญ ไม่อยากเจอเธอ เมื่อไรจะได้พบ ทั้งหมดประพันธ์คำร้องโดยครูแก้ว อัจฉริยกุล ทั้งสามเพลงของหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ที่กล่าวนี้เป็นเพลงลักษณะสวิง ท่วงทำนองมีกลิ่นอายของเบนนี่ กู้ดแมนอยู่ชัดเจนทีเดียว วงดนตรีกรมโฆษณาการนี้ควบคุมวงโดย ครูเอื้อ สุนทรสนาน ในช่วงเวลาร่วมสมัยกันนี้มี BIG BAND เกิดขึ้นอีกสองวง คือ วงดนตรีของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คุมวงโดย ครูนารถ ถาวรบุตร และวงดนตรีดุริยะโยธินของกองทัพบก ควบคุมโดยครูจำปา เล้มสำราญ ทั้งสามท่านนับว่าเป็นสามเสือแห่งวงการดนตรี BIG BAND ของยุคนั้น
หลังจากครูนารถออกจากวงดนตรีกรมโฆษณาการ ในที่สุดก็ได้มาดูแลวงดนตรีอาชีพที่มีชื่อเสียงและความสามารถสูงสุดของยุคนั้น คือ “วงดนตรีประสานมิตร” ของ พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ ได้ตั้งวงดนตรีประสานมิตรใน ปี 2496 ขึ้น ประสิทธิ์ พยอมยงค์ได้เข้าไปเป็นนักดนตรีอยู่ในวงนั้น พร้อมกับพรรคพวกเดิม และใหม่หลายคน เช่น สมาน กาญจนะผลิน สง่า ทองธัช ม.ร.ว.พรพุฒิ วรวุฒิ มาโนช ศรีวิภา เล็ก ชะอุ่มงาม และ ชาลี อินทรวิจิตร นำนักดนตรีของวงดนตรีของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มาให้ พิบูลย์ ทองธัช เภสัชบัณฑิตจากจุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้มีความจัดเจนในด้านดนตรีแจ๊สเป็นเยี่ยม ทำการจัดทำโน๊ตเพลงสำหรับวง หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของวงวงอีกท่านหนึ่งหนึ่ง คือ อ.ประสิทธิ์ พยอมยงค์ มือเปียโน สลับกับ สง่า ทองธัช (เจ้าของทำนองเพลง รักริษยาและธารสวาท) วงดนตรีประสานมิตรใช้เพลง MOONLIGHT SERENADE ของเกลน มิลเลอร์ เป็นเพลงประจำวง และดูเหมือนจะถนัดแนวนี้เป็นพิเศษ ครั้งหนึ่ง วงดนตรีประสานมิตรบรรเลงเพลง IN THE MOOD ออกอากาศ ณ สถานีวิทยุ ท.ท.ท.ราชดำเนิน เมื่อจบเพลงผู้ฟังทางบ้านต่างโทรศัพท์เข้ามาถามคุณชนะ ศาสตราภัย ผู้ประกาศสาวสวยในขณะนั้น จนรับสายแทบไม่ทันว่า IN THE MOOD ที่เพิ่งจบไปนั้นเป็นการบรรเลงสดๆจากวงดนตรีหรือจากการเปิดแผ่นเสียงกันแน่
ช่วงเวลานั้น วงดนตรีทุกวงหากบรรเลงเพลงฝรั่งแล้ว ต่างใช้โน๊ตที่ส่งเข้ามาขายจากต่างประเทของวงดนตรีดังๆ เหมือนกับที่บันทึกลงแผ่นเสียงมากมายๆ IN THE MOOD เรียกกันว่า“โน้ตเซ็ท” มีโน๊ตที่เป็นต้นฉบับ(ORIGINAL)ของวงดนตรีดังๆเหมือนกับที่บันทึกลงแผ่นเสียงมากมาย IN THE MOOD ก็เป็นเพลงหนึ่งที่ใช้โน้ตต้นฉบับของวง เกลน มิลเลอร์ สิ่งขาดแคลนที่สุดของวงการดนตรีในขณะนั้น คนที่มีความสามารถในด้านการเรียบเรียงเสียงประสาน
ผู้เรียบเรียงเสียงประสานของวงดนตรีประสานมิตร ได้แก่ พิบูลย์ ทองธัช ท่านผู้นี้ได้ฝากผลงานการเรียบเรียงชิ้นสำคัญไว้ชิ้นหนึ่ง คือ เพลง “ลาวดวงเดือน” เพลงนี้ท่านเรียบเรียงไว้ตั้งแต่ประมาณ ปี 2497 หรือ 98 เพลงนี้ เบนนี่ กู๊ดแมน เคยบรรเลงเมื่อเขามาเมืองไทย ปี 2499 และดูเหมือนว่าจะได้มีการบันทึกแผ่นเสียง SPEED 45 RPM. ไว้ด้วย นักเรียบเรียงฯ อีกท่านหนึ่ง คือ อ.ประสิทธิ์ พยอมยงค์ ท่านผู้นี้ฝากผลงานเพลง“สายฝนสวิง”ไว้ให้ฟังกัน(พระราชนิพนธ์เดิมเป็นจังหวะวอลซ์)
เมื่อมีแฟนเพลง นักฟังดนตรี นักลีลาศทั้งหลาย พากันชื่นชอบผลงานการบรรเลงของ วงดนตรีน้องใหม่ ไฟแรง ที่หาญกล้าเข้ามาต่อกรกับพี่เอื้อยของวงการ คือ วงดนตรีกรมโฆษณาการ หรือ วงสุนทราภรณ์ ที่มี ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นพี่เอื้อยครองตลาดมานานเต็มที พ.ต.อ. พุฒ บูรณสมภพ ก็วางแผนอีกขั้นหนึ่ง โดยคืบเข้าไปแบ่งเค้กจากงานประจำของหน่วยราชการ โดยเฉพาะงานรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นงานที่ วงดนตรีสุนทราภรณ์ จองเป็นเจ้าประจำทุกปีไม่เคยว่างเว้น
พ.ต.อ.พุฒ บุรณสมภพ เขียนเล่าเหตุการณ์ ตอนนี้เอาไว้ว่า “ต่อมาเมื่อถึงงานวันรัฐธรรมนูญที่มีที่สวนอัมพร ปีนั้นมีงานถึง 16 วัน ที่เวทีลีลาศสวนอัมพรเปิดมีงานลีลาศเต็มทั้ง 16 วัน ผมไปทาบทามประธานผู้จัดงาน ซึ่งปีนั้นคือ คุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ ท่านเป็นนักดนตรีมีอันดับคนท่านหนึ่ง ขอเอา ดนตรีประสานมิตร ของผมขึ้นเล่นที่เวทีลีลาศ คุณหลวงสุขุมฯขอฟังการเล่นของวงนี้ก่อน ผมก็เรียก วงประสานมิตรมาเล่นให้ฟัง คุณหลวงสุขุมฯชอบใจมาก บอกว่านี่เป็นนักดนตรีไทยทั้งนั้นหรือ ผมก็ให้ท่านได้รู้จักกับนักดนตรีของผมทุกคน เป็นที่ยืนยันว่า นักดนตรีของผมไม่มีคนต่างชาติเข้ามาปะปนแม้แต่คนเดียว นักร้องของผมก็เป็นนักร้องหน้าใหม่ส่วนมาก เป็นไทยแท้ๆ ทั้งหญิงและชาย คุณหลวงสุขุมฯ ตกลงเอา วงประสานมิตรขึ้น เวทีลีลาศสวนอัมพร ใน งานฉลองรัฐธรรมนูญ ปีนั้น เป็นการประเดิมงานแรกของ วงประสานมิตร นักลีลาศที่มาในงานต่างก็แปลกใจในวงดนตรีวงนี้ เพราะไม่เคยได้ฟังดนตรีสากลคนไทยเล่นได้เหมือนฝรั่งอย่างนี้ ก็บอกต่อๆ กันไป ทำเอาเวทีลีลาศมีนักลีลาศมาเที่ยวกันมาก”
อันที่จริง สถานการณ์ตอนนั้น พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ จะหาทางโอน วงดนตรีประสานมิตรวงนี้ เข้าไปอยู่ใน กองดุริยางค์กรมตำรวจ เหมือนวงดนตรีของหน่วยราชการอื่นๆ ก็น่าจะไม่เป็นปัญหาอะไร เพราะเป็นคนสนิทของอธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์อยู่แล้ว แต่ พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ กลับดำเนินกุศโลบายที่แยบยลยิ่งกว่า โดยเล่าว่า ผมอยากจะเอา วงประสานมิตรนี้ เข้าอยู่ในสังกัดกองดุริยางค์กรมตำรวจ แต่ไม่อยากที่จะไปกวนใจเจ้านาย ผมก็เก็บเอาวงนี้ของผมไว้ออกอากาศ กับสถานี ท.ท.ท. ไปพลางๆ ก่อน ในงานฉลองวันรัฐธรรมนูญ ที่ เวทีลีลาศสวนอัมพร ปีนั้นเอง ก็มีเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นยินดี เกิดขึ้น
“…วันหนึ่งผมก็ชวนเจ้านายไปนั่งฟังเพลงที่ในงาน เมื่อเลิกงานแล้วตอนค่ำ ผมพาไปนั่งที่โต๊ะที่อยู่ข้างๆ เวที บังหลบอยู่ริมกำแพงด้านใน ตอนเดินเข้าไป เจ้านายไม่ได้ดูด้วยซ้ำไปว่า บนเวทีดนตรีนั้นดนตรีของใครตั้งอยู่ พอถึงเวลาดนตรีออกแสดง นักลีลาศมากันหลายคณะแล้ว ตั้งใจมาฟัง วงดนตรีประสานมิตร เมื่อดนตรีขึ้นก็ออกมาวาดลวดลายกันสนุกกับเสียงเพลง เจ้านายก็นักฟังเพลงเหมือนกัน เพราะเคยเป็นเจ้าของ วงดนตรีทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้ยินเสียงดนตรีก็ถามผมว่า เขาไปเอาวงใครมาเล่นยังกับวงฝรั่ง
ผมก็บอกว่า “ลองชะโงกหน้าไปดูซีครับ” เจ้านายลุกขึ้นไปชะโงกหน้าดู กลับมาพูดว่า…“เฮ้ย หน้าตามันเหมือนคนไทย นี่หว่า” “คนไทยทั้งวงแหละครับ” ท่านมองหน้าผม…“ไอ้บ้า กูไม่เคยได้ยินคนไทยเล่นได้อย่างนี้ ” ผมเดินไปเรียกหัวหน้าวงมาให้เข้ามาพบท่าน แนะนำให้รู้จักว่าเป็นใคร ก็ถูกซักถามจึงได้แน่ใจว่าเป็นนักดนตรีไทยทั้งคณะ และมีชื่อคณะว่าอะไร “มึงแอบไปตั้งวงเมื่อไหร่” ทีนี้ผมถูกถาม ผมก็เล่าเรื่องย่อๆ ให้ฟังว่า ผมรำคาญวงไทยของครูเอื้อยังไง แล้วคิดอะไร จัดเตรียมวงนี้มายังไง แล้วก็ปิดท้ายว่า กองดุริยางค์กรมตำรวจ ยังขาดวงดนตรีประเภทนี้ เอาเข้าอยู่ในสังกัดเสียเลยก็ยังได้ ตั้งแต่นั้นมา วงประสานมิตรก็เลยเข้ามาอยู่ในสังกัด กรมตำรวจ กินเงินเดือนตำรวจไปเลย เป็นเงินเดือนที่ได้รับเท่ากับที่ผมตั้งไว้ ผมก็หมดภาระค่าใช้จ่ายไปได้ แต่ผมขอเอาไว้ว่า สำหรับวงนี้ ขอให้อยู่ในบังคับบัญชาของผมคนเดียว ทางกองดุริยางค์ของกรมไม่ต้องมายุ่ง ก็ไม่มีอะไรขัดข้อง
วงนี้ ต่อมาโดนจัดไปเล่นที่ โรงแรมเอราวัณ ในห้องลีลาศ เมื่อเอราวัณสร้างขึ้นใหม่ๆ โดยแบ่งเป็นวงเล็ก ไปหารายได้พิเศษที่นั่นอีก ที่ถูกเรียกไปเล่นในห้องคอฟฟี่ช๊อพ ของ โรงแรมเอราวัณ นั้น ก็เพราะท่านประธานโรงแรม เป็นคนเดียวกับ ท่านอธิบดีกรมตำรวจ โรงแรมเพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่ๆ ไม่อยากให้นักดนตรีขาดงาน ท่านประธานโรงแรม ก็เลยสั่งเอาดนตรีสังกัดกรมตำรวจมาเล่นเสียที่นี่ตอนกลางคืน”
ต่อมา เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจ จาก จอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อ ปี พ.ศ.2500 พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ บรรดาอัศวินแหวนเพชรทั้งหลาย รวมทั้ง พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ ก็แตกกระสานซ่านเซ็น แต่วงดนตรีประสานมิตรอยู่ได้ไม่นานก็สลายตัวไป เนื่องด้วยเหตุผลทางการเมือง ประสิทธิ์ พยอมยงค์และ จำนรรจ์ กุณฑลจินดา จึงฟื้นวงดนตรีใหม่ เปลี่ยนชื่อเป็นวงดนตรีกรรณเกษม ได้ สมาน กาญจนะผลิน และ ไพบูลย์ ลีสุวัฒน์มาร่วมวง วงดนตรีประสานมิตร ก็ถึงแก่กาลอวสาน อย่างน่าเสียดาย แม้ว่าภายหลังจะกลายมาเป็น วงดนตรีกรรณเกษม และวงดนตรีคีตะวัฒน์ ในภายหลังก็ตาม