ครบ100 ปีเปลี่ยนชื่อถนน

ครบรอบ ๑๐๐ ปี แห่งนามถนนพระราชทาน

เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๖๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามถนนบางสายในพระนคร เพื่อให้เหมาะสมแก่กาลสมัย ซึ่งวันนี้เป็นวันครบรอบ ๑๐๐ ปีของนามถนนเหล่านี้ ได้แก่

๑.ถนนราชวิถี เดิมคือถนนซางฮี้ (ปัจจุบันคงเหลือแต่ชื่อสะพานซังฮี้ที่ยังเรียกติดปากกันอยู่)
๒.ถนนศรีอยุธยา เดิมคือถนนดวงตวัน
๓.ถนนราชดำเนินนอก เดิมคือถนนเบญมาศนอก
๔.ถนนพิษณุโลก เดิมคือถนนคอเสื้อ
๕. ถนนพระรามที่ ๕ เดิมคือ ถนนลก
๖. ถนนประแจจีน เดิมคือถนนเพชรบุรี
๗. ถนนนครราชสีมา เดิมคือถนนดวงดาว
๘. ถนนศุโขทัย (หรือสะกดในปัจจุบันว่า สุโขทัย) เดิมคือถนนดวงเดือน
๙.ถนนนครไชยศรี เดิมคือถนนราชวัตร์ (ปัจจุบันคงเหลือเรียกย่านราชวัตรและแยกราชวัตร)
๑๐. ถนนสวรรคโลก เดิมคือ ถนนสิ้ว (ซิ่ว)
๑๑. ถนนนครปฐม เดิมคือ ถนนฮก
๑๒. ถนนสุพรรณ เดิมคือ ถนนส้มมือหนู
๑๓. ถนนพิชัย เดิมคือถนนพุดตานเหนือ
๑๔. ถนนพระรามที่ ๖ เดิมคือ ถนนประทัดทอง
๑๕. ถนนอู่ทอง (นอก) เดิมคือถนนใบพร ส่วนถนนอู่ทอง (ใน) เดิมคือถนนปลายใบพร
๑๖. ถนนพระรามที่ ๑ เดิมคือถนนประทุมวัน
๑๗. ถนนพระรามที่ ๔ เดิมคือถนนหัวลำโพง (นอก)
๑๘. ถนนนครสวรรค์ เดิมคือถนนตลาด

นามถนนเดิมนั้น เป็นถนนที่ตัดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในช่วงเวลาที่ทรงพัฒนาพื้นที่บริเวณวังสวนดุสิต ซึ่งนามเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มาจากลวดลายเครื่องถ้วย ซึ่งเป็นพระราชนิยมในรัชสมัยของพระองค์ เป็นลวดลายมงคลแทนความหมายของพรสามประการ คือ โชคลาภความมั่งคั่ง บริบูรณด้วยโภคสมบัติ (ฮก) บุญวาสนา อำนาจเกียรติยศ (ลก) และความมีอายุยืน (ซิ่ว) แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ความนิยมในเรื่องเครื่องกระเบื้องลดน้อยลง จึงมีการเปลี่ยนนามถนนใหม่ และครบหนึ่งร้อยปีในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์นี้

ข้อมูลจากเพจ หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Back To Top