ประชุมแก้ปัญหาปาล์มน้ำมัน

จ.สุราษฎร์ธานีเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องหาแนวทางแก้ไขปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ ทบทวนมาตรการ “สุราษฎร์ธานีโมเดล”

วันนี้(12 พ.ย.61) ที่ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายธีระ อนันตเสรีวิทยา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เรียกประชุมส่วนราชการ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนผู้ประกอบการ และตัวแทนเกษตรกร เพื่อร่วมหารือและสรุปผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ “สุราษฎร์ธานีโมเดล” โดยการรณรงค์ให้เกษตรกรตัดผลปาล์มสุกที่มีคุณภาพ ไม่ตัดปาล์มดิบ ซึ่งหลังจากดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ปรากฏว่า มีเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว ที่ภาครัฐได้มีการจัดเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่หน่วยงานเกษตร คัดทะลายปาล์มน้ำมันก่อนเข้าสู่โรงงาน พร้อมกับยึดผลปาล์มดิบที่ไม่มีคุณภาพ เพื่อนำไปแปรสภาพเป็นปุ๋ยอินทรีย์

นายอาวุธ วงศ์สวัสดิ์ พาณิชย์จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การซื้อขายปาล์มน้ำมันหลังจากออกมาตรการสุราษฎร์ธานีโมเดล ปรากฏว่า ตั้งแต่วันที่ 1 – 11 พฤศจิกายน 2561 มีการซื้อขายรวมประมาณ 100,000 ตัน มีปาล์มที่ไม่ได้คุณภาพตามประกาศประมาณ 450 ตัน อัตราเปอร์เซ็นต์สกัดเฉลี่ย อยู่ 18.14 % ราคาปาล์มน้ำมันหน้าโรงงานเฉลี่ยอยู่ที่ 3.20 บาท โดยพบว่าช่วงหลังราคาปาล์มน้ำมันเริ่มลดลง เนื่องจากราคา CPO ลดลง ช่วงแรกอยู่ที่ 17.50 บาท ปัจจุบันอยู่ที่ 16 บาท อย่างไรก็ตามจากการประสานงานและหารือกับจังหวัดพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งนครศรีธรรมราช กระบี่ และชุมพร เห็นพ้องกันว่ามาตรการสุราษฎร์ธานีโมเดล เป็นมาตรการที่ดี มีผลเป็นรูปธรรมว่าอัตราเปอร์เซ็นต์น้ำมันเพิ่มขึ้น และราคารับซื้อก็สูงกว่าจังหวัดใกล้เคียง ส่วนประเด็นข้อกังวลในขณะนี้คือ มีบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย หรือเสียผลประโยชน์ กำไรลดลง อาจมีผลกระทบ แล้วไปสื่อสารให้พี่น้องเกษตรกรเข้าใจผิด หรือเข้าใจในประเด็นที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลให้มีภาพที่เป็นลบเกี่ยวกับโครงการนี้ ส่วนข้อกังวลอีกประการหนึ่งคือ เกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 80 จะซื้อขายผ่านลานเท ในขณะที่โรงงานรับซื้อในราคาที่สูง แต่เกษตรกรยังขายได้ในราคาเท่าเดิม ซึ่งทำให้เกิดช่องว่างระหว่างลานเทกับโรงงาน ดังนั้นเมื่อโรงงานรับซื้อในราคาที่สูง ลานเทก็ควรรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในราคาที่สูงด้วย.

Back To Top