ทำลายเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย

จังหวัดนครศรีธรรมราช ทำลายเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย และส่งมอบเครื่องมือประมงถูกกฎหมายแก่ชาวประมงที่เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมง

วันนี้(5 ต.ค.61)ที่สำนักงานประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานในพิธีทำลายเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย และส่งมอบเครื่องมือประมงถูกกฎหมายให้ชาวประมงที่เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมง โดยมีนายสมพงษ์ มากมณี นายอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช นายตระกูล หนูนิล ป้องกันกันจังหวัด ผู้แทนฝ่ายตำรวจ เจ้าหน้าที่ ผู้เกี่ยวข้อง และตัวแทนเกษตรกรชาวประมงเขตพื้นที่อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เข้าร่วมพร้อมเพรียงกัน

สำหรับการประกอบพิธีทำลายเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย และส่งเมอบเครื่องมือประมงถูกกฎหมายให้ชาวประมงที่เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงครั้งนี้เป็นไปตามประกาศกรมประมง เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการทำลาย ขาย หรือดำเนินการอื่นกับเครื่องมือทำการประมง ลงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2560 ไม่ให้อยู่ในสภาพที่เป็นเครื่องมือทำการประมงและนำไปใช้ประโยชน์ในทางราชการต่อไป โดยมีการทำลายเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย ประกอบด้วย เครื่องมือโพงพาง จำนวน 80 ปาก ,เครื่องมือลอบพับได้ จำนวน 1,741 ลูก ,เครื่องมืออวนลาก จำนวน 83 ปาก ,เครื่องมืออวนรุน จำนวน 59 ปาก และเครื่องมือคราดหอย จำนวน 7 อัน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเครื่องมือประมงที่ได้จากการตรวจยึดเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 60 – 31 ส.ค.61 ประกอบด้วย เครื่องมือโพงพาง จำนวน 12 ปาก ,เครื่องมือลอบพับได้ จำนวน 834 ลูก ,เครื่องมืออวนลาก จำนวน 4 ปากและเครื่องมืออวนรุน จำนวน 1 ปาก และเป็นเครื่องมือประมงผิดกฎหมายที่ได้จากชาวประมงที่เข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มเติม ประกอบด้วย เครื่องมือโพงพาง จำนวน 65 ปาก ,เครื่องมือลอบพับได้ จำนวน 52 ลุก ,เครื่องมืออวนลาก จำนวน 62 ปาก ,เครื่องมืออวนรุน จำนวน 54 ปาก และเครื่องมือคราดหอย จำนวน 7 อัน พร้อมกันนี้ได้ประกอบพิธีส่งมอบเครื่องมือประมงแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงในเขตพื้นที่อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จำนวน 156 ราย ด้วย

ทั้งนี้จังหวัดนครศรีธรรมราชโดยสำนักงานประมงจังหวัดนครศรีธรรมราชได้กำหนดโครงการแก้ไขปัญหาชาวประมงในพื้นที่อ่าวปากพนัง หรือปากพนังโมเดล เพื่อแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายในพื้นที่อ่าวปากพนัง โดยใช้มาตรการสร้างความรู้ความเข้าใจ ส่งเสริมกิจกรรมสร้างอาชีพ สร้างรายได้และมาตรการป้องกันและปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เบื้องต้นมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด มีการจับกุมตรวจยึดและรื้อถอนเครื่องมือประมงผิดกฎหมายมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2561 รวม 33 คดี และมีการจัดทำโครงการเพื่อเสริมสร้างความรู้ สร้างอาชีพและรายได้แก่ชาวประมง อาทิ โครงการฝึกอบรมอาสาสมัครอนุรักษ์ทรัพยากรประมง และโครงการแก้ไขปัญหาความต้องการของประชาชนระดับพื้นที่ด้านการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

พงศ์พัศ หนูเอียด นครศรีธรรมราช รายงาน

Back To Top