กลุ่มเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันอำเภอท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ทำบันทึกข้อตกลงกับโรงงานปาล์มน้ำมันในพื้นที่เพื่อพัฒนาและซื้อขายปาล์มน้ำมันคุณภาพ
ที่บริษัทกลุ่มสมอทองจำกัด ตำบลสมอทอง อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายธีระ อนันตเสรีวิทยา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความร่วมมือหรือ MOU ระหว่างนายสามารถ ทิพย์ศักดิ์ ประธานแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันตำบลสมอทอง กับนางสาวภักดิ์ศินันท์ บุญส่ง ผู้แทนบริษัทกลุ่มสมอทอง จำกัด ซึ่งบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ เป็นการทำขึ้นระหว่างกลุ่มแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันตำบลสมอทอง กับบริษัทกลุ่มสมอทอง จำกัด เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพปาล์มน้ำมันและซื้อขายปาล์มน้ำมันที่ 18 เปอร์เซ็นต์น้ำมัน สร้างโอกาสในการจำหน่ายปาล์มน้ำมันคุณภาพ ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีข้อตกลงคือ สมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ต้องพัฒนาการผลิตน้ำมันปาล์มให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่สูงขึ้น โดยคุณภาพขั้นต้นอยู่ที่ระดับที่บริษัทยอมรับได้ บริษัทกลุ่มสมอทอง จำกัด หรือลานเทของบริษัทรับซื้อปาล์มน้ำมันจากกลุ่มสมาชิกในราคาเพิ่มตามระดับคุณภาพหรือเปอร์เซ็นต์น้ำมัน โดยเปรียบเทียบจากราคากลางปาล์มน้ำมันในจังหวัดสุราษฎร์ธานี หากมีการตัดปาล์มที่ไม่มีคุณภาพหรือตัดปาล์มดิบ ทางบริษัทขอให้ไม่มีการนำปาล์มคัดเหล่านั้นกลับ เนื่องจากทางบริษัทจะมีมาตรการทำลายปาล์มน้ำมันที่ไม่มีคุณภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำปาล์มดิบเหล่านั้นย้อนกลับสู่ขบวนการสกัดน้ำมันปาล์มอีก และกลุ่มสมอทอง จำกัด สนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่มนอกเหนือจากการซื้อผลผลิตปาล์มน้ำมันในด้านการพัฒนาสวนปาล์มน้ำมันลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตการผลิต
นายสามารถ ทิพย์ศักดิ์ ประธานแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันตำบลสมอทอง กล่าวว่า แปลงใหญ่ของกลุ่มสมอทอง มีสมาชิก 165 ราย เนื้อที่กว่า 3 พันไร่ ทำปาล์มคุณภาพเพื่อนำมาขายให้กับโรงงานซึ่งโรงงานจะให้ราคาต่างกับเกษตรกรรายอื่น หากเป็นสมาชิกแปลงใหญ่จะได้ราคาต่างจากเกษตรกรรายอื่นกิโลกรัมละ 30 – 50 สตางค์ นอกจากนี้ทางกลุ่มยังมีการทำปุ๋ยหมักเพื่อใช้เองและขายให้กับสมาชิก เพื่อนำไปใส่ปาล์มน้ำมันกิโลกรัมละ 2 บาท ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนด้านการผลิตได้ไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ และอนาคตจะดำเนินการทำปุ๋ยหมักควบคู่กับเกษตรแปลงใหญ่เป็นเรื่อยๆ
ด้านนายธาร นวลนึก เกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ทางสำนักงานเกษตรจังหวัด ได้ดำเนินการทำบันทึกข้อตกลงในอำเภอท่าชนะ 2 โรงงาน ซึ่งเกษตรกรสามารถใช้ตลาดเป็นตัวบ่งชี้ว่าเกษตรกรมรมีตลาดที่แน่นอนแต่เกษตรกรต้องพัฒนาคุณภาพปาล์มน้ำมันให้ตามมาตรฐานที่โรงงานกำหนด ซึ่งเกษตรกรแปลงใหญ่ในแต่ละกลุ่มจะดำเนินการทำปุ๋ยหมักเพื่อใช้เองทั้งหมด ซึ่งผลพวงมาจากโครงการ 9101 ครั้งที่ผ่าน ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี และการทำบันทึกข้อตกลงในวันนี้ ถือว่าเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของเกษตรกรแปลงใหญ่โดยมีเกษตรจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ จนประสบความสำเร็จมาจนถึงวันนี้
สำหรับการรวมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ ทั้งของกลุ่มสมองทองและคันธุลี เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาคุณภาพ ก่อนจะนำส่งสู่โรงงานสกัดเพื่อให้ได้เปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์มที่สูงขึ้น ทำให้รายได้เพิ่มขึ้นปัจจุบันมีสมาชิก 200 กว่ารายเนื้อที่ประมาณ 4 พันไร่.